โมเดลทางธุรกิจแบบใหม่ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในธุรกิจอาหารปี 2020 นั่นคือ การมี Virtual Restaurant ของผู้ให้บริการส่งอาหารเดลิเวอรี่ต่างๆ เช่น Grabfood ที่ได้เริ่มโปรเจค Grab Kitchen ในประเทศไทย และ Deliveroo , UberEats ในต่างประเทศ ซึ่งอาจจะทำให้รูปแบบการทำธุรกิจอาหารเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม

Virtual Restaurant หรือภัตตาคาร “เสมือนจริง” เป็นร้านอาหารเสมือนจริงที่ไม่ต้องมีหน้าร้านหรือโต๊ะอาหาร แต่เราจะสามารถเห็นชื่อร้านและเมนูต่างๆ ในแอพพลิเคชั่นของผู้ให้บริการส่งอาหารเดลิเวอรี่ เมื่อลูกค้ากดสั่งอาหารจากร้านที่เป็น Virtual Restaurant ห้องครัวนั้นก็จะทำอาหารและส่งอาหารให้กับลูกค้าเหมือนกับร้านอาหารทั่วไป ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวทำให้ Virtual Restaurant มีข้อได้เปรียบดังต่อไปนี้

1. ต้นทุนที่ต่ำกว่า บริหารจัดการง่าย

เนื่องจาก Virtual Restaurant เป็นร้านอาหารแบบไม่มีหน้าร้าน ทำให้การลงทุนต่ำ ไม่ต้องมีการจ้างพนักงานเสิร์ฟ ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงที่จอดรถ หรือโลเคชั่นที่ลูกค้าจะเดินทางมาลำบาก ตัวอย่างของ Virtual Restaurant เช่น Deliveroo จะมี "Roo Boxes" เป็นห้องครัวที่อยู่ในตู้คอนเทนเนอร์ โดยอาจจะตั้งอยู่ในพื้นที่ที่คับแคบ รถเข้าถึงยาก แต่พนักงานส่งอาหารของ Deliveroo ที่ใช้จักรยานในการส่งอาหารก็จะสามารถเข้าไปรับอาหารและส่งถึงมือลูกค้าได้อย่างรวดเร็ว Roo Boxes เป็นครัวที่มีประสิทธิภาพมากกว่าครัวร้านอาหารทั่วไปถึง 10 เท่า สามารถเสิร์ฟอาหารได้ 2,000 จานต่อวัน

2. ลูกค้าได้อาหารในราคาที่ถูกกว่าและเร็วกว่า

ผู้ให้บริการส่งอาหารเดลิเวอรี่อย่าง Deliveroo และ UberEats ใช้การวิเคราะห์ข้อมูลการสั่งซื้อของลูกค้า เพื่อช่วยในการเลือกทำเลของครัวที่เป็น Virtual Restaurant การวิเคราะห์สามารถระบุได้ว่าช่วงเวลาไหน และโลเคชั่นไหน มีความต้องการสั่งอาหารเยอะที่สุด หรือเมนูอะไรที่เป็นที่นิยมในโลเคชั่นนั้นๆ Virtual Restaurant จึงอยู่ใกล้กับความต้องการของลูกค้ามากๆ ทำให้ส่งอาหารได้อย่างรวดเร็ว และด้วยการจัดการที่ดีกว่าทำให้ลูกค้าสามารถสั่งอาหารเดลิเวอรี่ได้ราคาถูกกว่าอีกด้วย

3. สามารถใช้ห้องครัวให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

ห้องครัวเสมือนของ Virtual Restaurant อาจจะใช้วิธีอาศัยครัวของร้านอาหารเดิมที่มีอยู่แล้ว เพียงเพิ่มเมนูเฉพาะสำหรับการสั่งเดลิเวอรี่เท่านั้น ด้วยวิธีนี้ทำให้ร้านอาหารที่เป็นพาร์ทเนอร์สามารถใช้ครัวที่มีอยู่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถเพิ่มยอดขายได้มากขึ้น โดยร้านที่ทำเมนูเฉพาะสำหรับการสั่งเดลิเวอรี่ในแอพพลิเคชั่นบริการส่งอาหาร อาจจะเป็นชื่อร้านอีกแบรนด์ไปเลยก็ได้

4. จัดการส่งอาหารทุกอย่างด้วยระบบ

แอพพลิเคชั่นบริการส่งอาหารจะนำฐานข้อมูลลูกค้ามาวิเคราะห์และพยากรณ์ได้ว่า วันไหน ช่วงเวลาอะไร โลเคชั่นไหน ความต้องการเมนูอะไรบ้าง จำนวนประมาณเท่าไหร่ ซึ่งข้อมูลเหล่านี้นอกจากจะช่วยในการจัดการ Virtual Restaurant ให้มีประสิทธิภาพแล้ว ยังช่วยในการวางแผนการจัดส่งให้เป็นระบบ ซึ่งในอนาคตบริษัทต่างๆ เริ่มมีแผนที่จะนำหุ่นยนต์ส่งอาหารมาช่วยในการส่งพื้นที่การจัดส่งที่ไม่ไกลจากครัวมากนัก ซึ่งทำให้ช่วยลดต้นทุนการจัดส่งได้เป็นอย่างดี

5. Win-Win ได้ประโยชน์กันครบตั้งแต่ลูกค้าจนถึงพาร์ทเนอร์

ด้วยโมเดลทางธุรกิจของ Food Delivery ถือเป็นจุดที่ช่วยกระตุ้นการกระจายรายได้เป็นห่วงโซ่สู่อีกหลายธุรกิจ ได้แก่ ร้านอาหารที่สามารถขยายช่องทางการขาย ผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารกล่อง ผู้ส่งอาหารที่ปัจจุบันมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และตัวลูกค้าเองที่ได้รับความสะดวกในการได้รับบริการ และเมื่อ Virtual Restaurant ขยายตัวมากขึ้น ทำให้พ่อครัวหรือแม่ครัวไม่จำเป็นต้องมีเงินทุนให้การเปิดร้านอาหารใหญ่ๆ อีกต่อไป เพียงแค่มีฝีมือในการทำอาหาร ก็สามารถขยายฐานลูกค้าและเพิ่มรายได้ ซึ่งผู้ที่จะได้รับประโยชน์ยิ่งกว่าก็คือตัวลูกค้าเอง ที่จะได้รับอาหารที่รวดเร็ว และสดใหม่มากขึ้น

สนใจเลือกซื้อกล่องอาหารทุกชนิด พร้อมโลโก้ คลิกเลย